โครงการ การศึกษาการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายน้ำเค็ม

และพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เกี่ยวกับโครงการ

ที่มาและความสำคัญ
การจัดการเติมน้ำใต้ดิน (Managed Aquifer Recharge, MAR) เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำใต้ดินในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ มีการดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลกและในหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบจากการเติมน้ำใต้ดินต่อการแพร่กระจายความเค็มของน้ำใต้ดิน จึงนำมาสู่การศึกษาการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายน้ำเค็ม จัดจำแนกพื้นที่ตามสภาพแวดล้อมทางอุทกธรณีวิทยาในพื้นที่ต้นแบบ พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดการเติมน้ำใต้ดิน จัดทำแผนที่เหมาะสมต่อการเติมน้ำใต้ดิน ออกแบบ ก่อสร้าง และทดลองระบบ ประเมินประสิทธิภาพ วิเคราะห์ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทางอุทกธรณีวิทยาต่อการเติมน้ำใต้ดิน จัดทำฐานข้อมูลสนับสนุนการเติมน้ำใต้ดิน จำลองผลการเติมน้ำในระยะยาว จัดทำคู่มือการเติมน้ำใต้ดินสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแผนแม่บทการเติมน้ำใต้ดินของพื้นที่ลุ่มน้ำต้นแบบ เพื่อให้การดำเนินการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่นี้มีประสิทธิภาพและมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยดำเนินการวิจัยเชิงลึกในพื้นที่ลุ่มน้ำต้นแบบคือ ลุ่มน้ำห้วยสายบาตร

วัตถุประสงค์โครงการ
1. เพื่อสำรวจ ศึกษาศักยภาพ จัดจำแนกพื้นที่ตามสภาพแวดล้อมทางอุทกธรณีวิทยา ออกแบบ ก่อสร้าง ทดลองระบบเติมน้ำใต้ดิน และประเมินความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทางอุทกธรณีวิทยาแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำต้นแบบ (ห้วยสายบาตร) ต่อการจัดการเติมน้ำใต้ดิน
2. เพื่อติดตาม วิเคราะห์ ประเมินผลทางวิศวกรรม สังคม และเศรษฐศาสตร์ จากระบบการเติมน้ำใต้ดินที่ดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบ
3. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสภาพแวดล้อมทางอุทกธรณีวิทยา (Hydrogeological environment database) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System, DSS) ในการพัฒนาระบบการจัดการเติมน้ำใต้ดิน ในเชิงภูมิอากาศ อุทกวิทยา ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม และระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ในบริบทของพื้นที่ลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ลุ่มน้ำห้วยสายบาตร เป็นพื้นที่ต้นแบบ
4. เพื่อจัดทำแผนการพัฒนา มาตรฐานขั้นตอนการดำเนินงาน และคู่มือสำหรับการพัฒนาระบบการจัดการเติมน้ำใต้ดินของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยสายบาตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ