การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเติมน้ำใต้ดิน พื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี”

การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเติมน้ำใต้ดิน พื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี”

สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน ได้รับเชิญจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสายมิตรปราจีนบุรี เป็นวิทยากรในการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การเติมน้ำใต้ดิน พื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี” เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม โรงเรียนสายมิตรศึกษา ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยกลุ่มผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในและนอกเขตพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี ที่มีความสนใจ วัตถุประสงค์ในการจัดอบรมเพื่อศึกษาวิธีการและรูปแบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำแนวทางความรู้ไปปรับใช้ บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และแก้ไขความเข้าใจผิดในการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่

โดยมีรายละเอียดการอบรมดังนี้

1. การให้ความรู้เกี่ยวกับ สถานการณ์และแนวโน้มวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรน้ำในประเทศไทยและแนวทางการเติมน้ำใต้ดินเพื่อแก้วิกฤตการณ์ทางด้านน้ำ โดย ผศ.ดร โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

2. การให้ความรู้เกี่ยวกับ การจัดการเติมน้ำใต้ดินในประเทศไทย แนวทางการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย ดร.เกวรี พลเกิ้น รองผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นแก้ปัญหาภัยแล้งและผลสัมฤทธิ์ โดย นายไพจิตร จอมพันธ์ ประธานเครือข่ายชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดินตำบลนนทรี

4. การสำรวจพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความเหมาะสมของการดำเนินการเติมน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • พื้นที่เติมน้ำใต้ดินของ วิทยาลัยเทคโนโลยีสายมิตร ตำบลกบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี
  • พื้นที่เติมน้ำใต้ดินของ วัดคลองกลาง ตำบลกบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี
  • พื้นที่เติมน้ำ บ้านนาคลองกลาง ตำบลเขาไม้แก้ว จังหวัดปราจีนบุรี
  • พื้นที่บ้านหนองแก ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
  • พื้นที่บ้านหนองโคลน ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินและชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดินตำบลนนทรี ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาองค์ความรู้ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยวิธีการและขั้นตอนการเติมน้ำใต้ดินที่เหมาะสม และถูกต้องตามหลักการทางวิชาการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำไปปฏิบัติและปรับใช้ในพื้นที่ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยต่อไป